แนวปฏิบัติMDR

แนวปฏิบัติทางคลินิกตามหลักฐานเชิงประจักษ์เพื่อควบคุมและป้องกัน
การแพร่กระจายเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาล

วัตถุประสงค์  เพื่อให้บุคลากรปฏิบัติเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ควบคุมและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาล
นโยบาย

          1. บุคลากรทางการพยาบาลทุกคนปฏิบัติตามแนวปฏิบัติทางคลินิกตามหลักฐานเชิงประจักษ์เพื่อควบคุมและป้องกันการเกิดการแพร่กระจายเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาล
          2. หัวหน้าหน่วยบริการพยาบาลที่มีผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการเกิดการแพร่กระจายเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาล ได้แก่  ผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านจุลชีพ ส่งเสริม ควบคุมกำกับ การปฏิบัติตามแนวทางฯอย่างต่อเนื่อง
          3. คณะกรรมการควบคุมและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลทำการประเมินผลการปฏิบัติตามแนวทางฯ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
          4. หน่วยบริการพยาบาลที่มีผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการเกิดการแพร่กระจายเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาล  มีการเฝ้าระวังการเกิดการแพร่กระจายเชื้อดื้อยาอย่างต่อเนื่อง

กลุ่มเป้าหมาย   บุคลากรทางการพยาบาล 
คำจำกัดความ
เชื้อดื้อยา หมายถึง การที่เชื้อจุลชีพมีความทนทานต่อฤทธิ์ของยาต้านจุลชีพ ที่เคยใช้ทำลายเชื้อชนิดนั้นได้ผล
เชื้อดื้อยาหลายขนาน  (Multidrug-Resistant Organism) หมายถึง เชื้อจุลชีพโดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยาต้านจุลชีพตั้งแต่ 3 กลุ่มขึ้นไป เช่น เชื้อแบคทีเรียแกรมลบที่ดื้อยาหลายกลุ่ม, เชื้อที่ผลิตเอนไซม์ extended spectrum beta-lactamase (ESBL)-producing เป็นต้น นอกจากนี้แม้ว่าเชื้อบางชนิดจะระบุว่าดื้อต่อยาเพียงชนิดเดียว เช่น Methicillin- resistant Staphylococcus aureus (MRSA), Vancomycin resistant Enterococci (VRE) แต่เชื้อเหล่านี้มักดื้อยาที่มีใช้ในปัจจุบันร่วมด้วย
การติดเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาล หมายถึง การติดเชื้อที่เกิดขึ้นเนื่องจากผู้ป่วยได้รับเชื้อจุลชีพขณะอยู่ในโรงพยาบาลโดยอาจเป็นเชื้อจุลชีพที่มีอยู่ในตัวผู้ป่วยเองหรือเป็นเชื้อจากภายนอกร่างกายผู้ป่วยก็ได้และเป็นเชื้อจุลชีพที่ทดสอบแล้วว่าดื้อต่อยาต้านจุลชีพ โดยขณะที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลไม่มีอาการและอาการแสดงของการติดเชื้ออยู่และไม่ได้อยู่ในระยะฟักตัวของเชื้อ กรณีที่ไม่ทราบระยะฟักตัวของเชื้อให้ถือว่าเป็นการติดเชื้อในโรงพยาบาล หากพบว่าการติดเชื้อนั้นปรากฏอาการหลังจากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเกิน 48 ชั่วโมง แต่การติดเชื้อที่พบขณะแรกเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอาจเป็นการติดเชื้อในโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับการรักษาในครั้งก่อน อาการของการติดเชื้อส่วนใหญ่จะปรากฏขณะที่ผู้ป่วยอยู่ในโรงพยาบาล แต่บางรายก็อาจจะปรากฏอาการภายหลังจากจำหน่ายจากโรงพยาบาลภายในระยะฟักตัวของโรคดังกล่าว
แนวปฏิบัติทางคลินิกตามหลักฐานเชิงประจักษ์เพื่อป้องกัน
การแพร่กระจายเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาล

แนวปฏิบัติทางคลินิกตามหลักฐานเชิงประจักษ์ในการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายเชื้อดื้อยา ฉบับนี้เป็นแนวทางที่พัฒนาจากคำแนะนำจากศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐอเมริกาปี ค.ศ. 2006 (Centers for Disease Control and prevention [CDC], 2006) ดังนี้
หมวดที่ 1 การให้ความรู้เกี่ยวกับเชื้อดื้อยาแก่บุคลากร
1.บุคลากรใหม่ทุกคนได้รับการการปฐมนิเทศเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อดื้อยา  (IB)
2.ให้ความรู้และฝึกอบรมบุคลากรในโรงพยาบาลเรื่องการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายเชื้อดื้อยาให้ทันต่อเหตุการณ์อยู่เสมอ (IB) อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยมีเนื้อหา ได้แก่
           2.1 สถานการณ์การติดเชื้อดื้อยาของโรงพยาบาล
           2.2 ระบาดวิทยาของเชื้อดื้อยาและวิถีทางการแพร่กระจายเชื้อดื้อยา
           2.3 แนวทางการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายเชื้อดื้อยา
           2.4 การเฝ้าระวังการติดเชื้อดื้อยา
           2.5 การทำความสะอาดมือ
           2.6 การจัดการสิ่งแวดล้อม
หมวดที่ 2 การเฝ้าระวังการติดเชื้อดื้อยา
1. แนวทางในการแยกผู้ป่วยติดเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาล
            1.1 กรณีมีห้องแยก (IB) ให้ปฏิบัติดังนี้
    1.1.1 ติดป้ายหรือสัญลักษณ์ที่แสดงว่ามีการติดเชื้อดื้อยาติดไว้หน้าห้อง และหน้าแฟ้มเวชระเบียนของผู้ป่วย
              1.1.2 มีอ่างล้างมือหรือแอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือภายในห้อง หรือหน้าห้องของผู้ป่วย
             1.1.3 แยกของใช้สำหรับผู้ป่วย ได้แก่ เครื่องวัดความดันโลหิต ปรอทวัดไข้ ขวดรองรับปัสสาวะ หม้อนอน กระโถน ผ้าเช็ดตัว อุปกรณ์อาบน้ำ
1.2 กรณีไม่มีห้องแยก หรือผู้ป่วยไม่สามารถอยู่ในห้องแยก (IB) ให้ปฏิบัติดังนี้
                  1.2.1 แยกผู้ป่วยไว้ส่วนใดส่วนหนึ่งของหอผู้ป่วย ห่างจากผู้ป่วยอื่น อย่างน้อย 3 ฟุต โดยให้ผู้ป่วยติดเชื้อดื้อยาอยู่ในบริเวณเดียวกัน (IB)
                 1.2.2 ถ้าไม่สามารถให้ผู้ป่วยติดเชื้อดื้อยาอยู่ในบริเวณเดียวกันได้ ควรจัดให้ผู้ป่วยอยู่ในบริเวณเดียวกันกับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่ำ หรือผู้ป่วยที่อยู่โรงพยาบาลระยะสั้น (II)

                 1.2.3 เขียนป้ายหรือสัญลักษณ์ที่แสดงว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อดื้อยา ติดไว้ที่หัวเตียงและหน้าแฟ้มเวชระเบียนของผู้ป่วย
1.2.4 มีแอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือไว้ที่เตียงผู้ป่วย
                1.2.5 มีการแยกของใช้สำหรับผู้ป่วย ได้แก่ เครื่องวัดความดันโลหิต ปรอทวัดไข้ หูฟัง ขวดรองรับปัสสาวะ หม้อนอน กระโถน ผ้าเช็ดตัว อุปกรณ์อาบน้ำ                           
หมวดที่ 3 การควบคุมและการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อดื้อยา
1. ให้ปฏิบัติตามหลัก Standard precaution กับผู้ป่วยทุกราย (IB)
2. ปฏิบัติตามหลักการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อจากการสัมผัส (Contact precaution) เป็นประจำ เมื่อให้การพยาบาลผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อดื้อยาและมีเชื้อเจริญอยู่ตามส่วนต่างๆของร่างกาย (IA)
2.1 การทำความสะอาดมือ
                    2.2 สวมอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลกรณีที่คาดว่ามีโอกาสสัมผัสเลือดหรือสารคัดหลั่งจากร่างกายผู้ป่วยโดยปฏิบัติดังนี้
                     2.2.1 สวมหน้ากากอนามัยเมื่อให้การพยาบาลที่มีโอกาสเกิดการกระเด็นของสารคัดหลั่ง เช่น การทำความสะอาดแผล การดูดเสมหะ การใส่ท่อช่วยหายใจ (IB)
                    2.2.2 สวมถุงมือเมื่อให้การพยาบาลที่มีโอกาสสัมผัสเลือดหรือสารคัดหลั่งจากร่างกายผู้ป่วย ผิวหนังที่ไม่ปกติ โดยสวมถุงมือที่มีขนาดเหมาะสมกับมือและเลือกชนิดถุงมือให้เหมาะสมกับการปฏิบัติแต่ละกิจกรรม                       
  2.2.3 ไม่ใช้ถุงมือคู่เดิมในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 1ราย ไม่ล้างถุงมือเพื่อใช้ซ้ำเนื่องจากทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อ เปลี่ยนถุงมือคู่ใหม่เมื่อต้องสัมผัสส่วนของร่างกายที่สะอาดหลังจากสัมผัสบริเวณที่มีการปนเปื้อนและล้างมือหลังถอดถุงมือทุกครั้ง
                    2.2.4 สวมเสื้อคลุม / ผ้ากันเปื้อนพลาสติก อย่างเหมาะสมตามกิจกรรมในการดูแลผู้ป่วยที่มีโอกาสสัมผัสเลือดหรือสารคัดหลั่ง เพื่อป้องกันผิวหนังและเสื้อผ้าเปรอะเปื้อน ถอดเสื้อคลุมและทำความสะอาดมือก่อนออกจากบริเวณที่ให้การดูแลผู้ป่วย
                    2.2.5 สวมแว่นตา เครื่องป้องกันใบหน้าหรือใช้อุปกรณ์ป้องกันหลายชนิดร่วมกันตามความจำเป็นเพื่อป้องกันการกระเด็นของเลือด สารคัดหลั่ง หรือสิ่งขับถ่ายจากผู้ป่วยเข้าตา จมูก หรือปาก                          
หมวดที่ 4 การจัดการสิ่งแวดล้อม
1.ทำลายเชื้อบนพื้นผิวบริเวณผู้ป่วยติดเชื้อดื้อยา เช่น เตียง ราวกั้นเตียง โต๊ะข้างเตียง โดยเช็ดบริเวณนั้นด้วยน้ำผสมผงซักฟอก (IB)                    
2.หูฟัง ปรอทวัดไข้ทำความสะอาดด้วย 70 % Alcohol (IB)                   
3.จัดลำดับในการทำความสะอาดและทำลายเชื้อจากบริเวณที่สะอาดก่อนบริเวณที่มีการปนเปื้อนหรือสกปรกมาก (IB)
         
 หมวดที่ 5 การจัดการผ้าเปื้อนและมูลฝอยติดเชื้อ
1. ผ้าที่ใช้กับผู้ป่วยให้บรรจุในถุงผ้าเปื้อน           
2. เก็บเครื่องผ้าที่ใช้กับผู้ป่วยโดยวิธีม้วนเก็บบริเวณสกปรก / เปื้อนเลือด / สารคัดหลั่งไว้ด้านในสุดของผ้าก่อนทิ้งในถังผ้าเปื้อน                      
3. มูลฝอยติดเชื้อควรบรรจุในถุงบรรจุมูลฝอยติดเชื้ออย่างเหมาะสมและมูลฝอยติดเชื้อที่เป็นของเหลวหรือสารคัดหลั่งให้เทลงในระบบกำจัดน้ำเสียของโรงพยาบาล  

หมวดที่ 6 การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย
1. ควรจำกัดการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย หากจำเป็นต้องมีการเคลื่อนย้ายต้องทำเป็นรายสุดท้ายและปฏิบัติดังนี้ (IB)
             1.1 แจ้งบุคลากรในหน่วยงาน / หอผู้ป่วยอื่นที่จะทำการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปให้ทราบล่วงหน้า
            1.2 นัดเวลาล่วงหน้ากับหน่วยงาน / หอผู้ป่วยอื่นที่จะทำการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไป
            1.3 ขณะเคลื่อนย้ายผู้ป่วย บุคลากรต้องสวมอุปกรณ์ป้องกันตามความเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เช่น ผู้ป่วยที่มีโอกาสเกิดการกระเด็นของสารคัดหลั่ง เสมหะ เช่น ผู้ป่วยที่ใส่ท่อช่วยหายใจ บุคลากรควรใส่อุปกรณ์ป้องกัน ดังนี้ ถุงมือ ผ้าปิดปากและจมูก ผ้ากันเปื้อนพลาสติก / เสื้อคลุม แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่การกระเด็นของสารคัดหลั่ง อาจไม่จำเป็นต้องใส่ผ้ากันเปื้อนพลาสติก / เสื้อคลุม เป็นต้น          
              1.4 กรณีผู้ป่วยมีแผลควรทำแผลและปิดแผลให้เรียบร้อยก่อนเคลื่อนย้ายผู้ป่วย

หมวดที่ 7 การให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและญาติ
1. ทำความสะอาดมือก่อนและหลังสัมผัสผู้ป่วยและสิ่งแวดล้อมรอบตัวผู้ป่วย                 
2. ไม่ใช้ของใช้ร่วมกันกับผู้ป่วยรายอื่น    

มาตรฐานการปฏิบัติการพยาบาลป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล ดังนี้
มาตรฐานที่1 การบริหารจัดการ และติดตาม กำกับระบบงานป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล  
กิจกรรม 
1.  กำหนดนโยบายการพยาบาลเพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายเชื้อดื้อยา
2. กำหนดกลุ่มผู้ป่วยเป้าหมายที่ต้องเฝ้าระวังการแพร่กระจายเชื้อดื้อยา ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ไตวายเรื้อรัง  ผู้ป่วยมีภาวะความรุนแรงของการเจ็บป่วยและผู้ป่วยมีภาวะที่ทำให้ภูมิต้านทานร่างกายต่ำ  เช่น ได้รับยา สเตียรอยด์  ได้รับยาเคมีบำบัด
          3. มอบหมายผู้รับผิดชอบดำเนินการ โดยคณะกรรมการงานควบคุมและป้องกันการติดเชื้อ
 4. กำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จของการดำเนินงาน
5. กำหนดการติดตาม ประเมินผลและสรุป วิเคราะห์ข้อมูล เป็นรายเดือน รายปี

มาตรฐานที่ 2 การดำเนินการและติดตาม กำกับระบบการเฝ้าระวังการติดเชื้อในโรงพยาบาลการเฝ้าระวังการติดเชื้อในผู้ป่วย
กิจกรรม
 1.  จัดทำแนวปฏิบัติการพยาบาลตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ โดยการมีส่วนร่วมและรับรองจากการทำประชาพิจารณ์ นำสู่การปฏิบัติ และการติดตาม ประเมินผลผลการดำเนินงาน
          2. มีระบบการเฝ้าระวัง โดยการใช้แบบฟอร์มการรายงานข้อมูลผู้เกี่ยวข้อง การวิเคราะห์ข้อมูล  การทบทวนอุบัติการณ์  และการทบทวนแนวปฏิบัติ
มาตรฐานที่ 3  การสอบสวนและควบคุมการระบาดของการติดเชื้อในโรงพยาบาล
กิจกรรม  
1. รับผู้ป่วยในหน่วยบริการพยาบาลในบริเวณใกล้เคียงกัน
2.กรณีพบการเกิดการแพร่กระจายเชื้อดื้อยา 2 รายขึ้นไป มีการควบคุมการระบาดโดยการทบทวนวิธีปฏิบัติของบุคลากร เน้นการปฏิบัติตามหลักการ Standard precaution
           3. ผู้ปฏิบัติให้ความสำคัญและปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนด หัวหน้าหน่วยบริการพยาบาล และพยาบาลควบคุมโรคติดเชื้อ ควบคุม กำกับประเมินผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

มาตรฐานที่ 4 การพัฒนาความรู้ ทักษะและให้คำแนะนำ ปรึกษาแก่บุคลากรทางการพยาบาล พยาบาลควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลดำเนินการพัฒนาความรู้ทักษะและให้คำแนะนำปรึกษาในป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาล แก่บุคลากรทางการพยาบาลอย่างต่อเนื่อง
กิจกรรม  
1.จัดทำแผนอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรทุกระดับเกี่ยวกับระบาดวิทยา และมาตรการในการควบคุมการแพร่กระจายเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาล เพื่อให้บุคลากรมีความสามารถ และทักษะในการปฏิบัติงานตามหน้าที่ความรับผิดชอบ และให้บุคลากรมีส่วนร่วมในการป้องกันการเกิดการแพร่กระจายเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาล
 2. จัดทำแนวปฏิบัติทางคลินิกตามหลักฐานเชิงประจักษ์เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาล รวบรวมตำรา ค้นคว้า เอกสารทางวิชาการ จัดทำแผ่นพับ สำหรับบุคลากรทางการพยาบาลได้ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม
3. สนับสนุน จัดทำการประชุมวิชาการ การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการประชุมปรึกษาหารือ เพื่อให้บุคลากรทางการพยาบาล ได้แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ประสบการณ์ และพิจารณาเสนอแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมในการดูแลและป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาล
4.สนับสนุนการศึกษาวิจัย และนวัตกรรม เกี่ยวกับการพยาบาลเพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาล
5. นิเทศ สอนงาน ประเมินความรู้ ทักษะ และให้คำปรึกษา ในการปฏิบัติตามมาตรฐานและแนวทางฯ

มาตรฐานที่ 5 การดูแลต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มเป้าหมายได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องป้องกันภาวะเสี่ยงของการแพร่กระจายเชื้อดื้อยา ทั้งในสถานพยาบาลและที่บ้าน
แนวทางปฏิบัติ  
 1. ประเมินความต้องการ การดูแลแก้ไขปัญหาสุขภาพของผู้ป่วยและครอบครัว เมื่อผู้ป่วยได้รับยาต้านจุลชีพ ให้โอกาสและช่องทางกับผู้ป่วยและครอบครัวรับทราบและตัดสินใจทางเลือกที่เกี่ยวข้องกับการดูแลต่อเนื่อง ทั้งการจำหน่ายกลับบ้าน ส่งต่อ เคลื่อนย้าย ทั้งภายในและภายนอกโรงพยาบาล
2. อธิบายให้ความรู้ และข้อมูลด้านสุขภาพแก่ผู้ป่วยและครอบครัว เพื่อส่งเสริมการดูแลตนเองทุกมิติ การปฏิบัติตนของผู้ป่วย ญาติหรือผู้ดูแลเกี่ยวกับ การป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ การตัดวงจรการแพร่กระจายเชื้อจากคนสู่คน การใช้หลักการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อแบบมาตรฐานและการทำความสะอาดมือ       
3. ประสานข้อมูล การดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องในประเด็นต่างๆ ดังนี้ การวางแผนเตรียมความพร้อมการดูแลต่อเนื่องไปยังหน่วยงานภายในและภายนอกโรงพยาบาลตามแนวทางที่หน่วยงานกำหนด ข้อมูลการเฝ้าระวังการติดเชื้อและดูแลรักษาพยาบาลของผู้ป่วย เกี่ยวกับข้อมูลทั่วไป การรักษา การวินิจฉัย สาเหตุ การส่งต่อ สิทธิการรักษา การบันทึกข้อมูลส่งต่อ รวมทั้งการติดตามข้อมูลการเฝ้าระวังหลังจำหน่ายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
มาตรฐานที่ 6 การคุ้มครองภาวะสุขภาพ
กิจกรรม
          ผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อดื้อยา คือกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด บุคลากรทางการพยาบาลจัดการ ดูแลเรื่องความสะอาดอาคาร สถานที่ สิ่งแวดล้อม รอบๆ โดยใช้ระบบ 5 ส  ดูแลระบบผ้าสะอาดและผ้าปนเปื้อนตามมาตรฐาน  ส่งเสริมการทำความสะอาดมือโดยมี Alcohol hands rub ที่ปลายเตียงผู้ป่วย หัวหน้าหน่วยบริการพยาบาลควบคุม กำกับ ดูแลอย่างต่อเนื่อง

มาตรฐานที่ 7 การให้ข้อมูลและความรู้ด้านสุขภาพ
กิจกรรม  
          1.บุคลากรทางการพยาบาลประเมินความสามารถในการเรียนรู้ของผู้ป่วยญาติและผู้ดูแลเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผน จัดโปรแกรมการให้ความรู้  ข้อมูลด้านสุขภาพ  เพื่อส่งเสริมการดูแลตนเอง
          2. ให้ข้อมูล ความรู้ แก่ผู้ป่วยและครอบครัวตามปัญหาและความเสี่ยง ในประเด็นขั้นตอนการรักษาพยาบาล กิจกรรมทางการแพทย์ และกิจกรรมการพยาบาล คู่มือ ข้อแนะนำ ข้อปฏิบัติการส่งเสริมการดูแลตนเอง สิทธิพึงมีพึงได้จากโรงพยาบาลและทีมสหสาขาวิชาชีพ การใช้สถานที่ สิ่งแวดล้อม สิ่งอำนวยความสะดวก และแหล่งประโยชน์ในโรงพยาบาล  กฎระเบียบของโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยและครอบครัว ให้โอกาสซักถามและมีช่องทางการเข้าถึงข้อมูล เช่น เสียงตามสาย  โปสเตอร์  แผ่นพับ เป็นต้น

มาตรฐานที่ 8 การพิทักษ์สิทธิ์ผู้ป่วย
กิจกรรม
          1.ปฏิบัติการพยาบาลโดยใช้แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการพิทักษ์สิทธิผู้ป่วยโดยการให้ข้อมูล บอกกล่าว ยินยอมการรักษา ข้อมูลที่จำเป็นแก่ผู้ป่วยและญาติ การแจ้งชื่อ สกุล และประเภทของผู้ประกอบวิชาชีพที่ให้บริการการรักษาความเป็นส่วนตัวและความลับ การเปิดเผยร่างกาย การจัดสภาพแวดล้อม  
2.ให้บริการด้วยความเสมอภาค ให้เกียรติและความเท่าเทียมกัน คำนึงถึงสิทธิความเป็นมนุษย์และปัจเจกบุคคล
          3.อธิบายและชี้แจงให้ผู้ป่วยและครอบครัวเข้าใจก่อนยินยอมหรือรับการรักษาโดยการทำหัตถการหรือการสอดใส่อุปกรณ์  เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยและครอบครัว ได้ซักถามประเด็นสงสัย ตลอดจนการมีส่วนร่วมตัดสินใจเกี่ยวกับการดูแลรักษาพยาบาล ทางเลือกการดูแลรักษา กรณีไม่ยินยอมสมัครใจรักษาบุคลากรทางการพยาบาลให้คำแนะนำการดูแลตนเองทบทวนความเข้าใจเกี่ยวกับอาการผิดปกติ และความจำเป็นในการกลับเข้ามารักษาในสถานพยาบาลที่ผู้ป่วยเลือก

 มาตรฐานที่ 9 การบันทึกทางการพยาบาล  
กิจกรรม
แนวทางการบันทึกทางการพยาบาลเมื่อเกิดการแพร่กระจายเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาลในรายงานการติดเชื้อ ส่งที่กลุ่มงานการพยาบาลด้านการควบคุมและป้องกันการติดเชื้อเพื่อสื่อสารกับทีมงานและทีมสหสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเป็นหลักฐานทางกฎหมาย ครอบคลุมประเด็น การเฝ้าระวังการติดเชื้อในโรงพยาบาล การให้บริการพยาบาลตามอาการทางคลินิกนำผลการบันทึกทางการพยาบาลพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง

2 ความคิดเห็น: